วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กระติบ ภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อน


กระติบ ภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อน
โดย น.ส.กิตติพร ส่งศิริประดับบุญ
รหัสนิสิต 5187116020

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอแนะ แนวทางอนุรักษ์


อนึ่งจากการที่กระติบถูกนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้สอดรับกับความต้องการของคนในสังคมที่มีมากขึ้นอันเกิดจากการบูรณาการภูมิปัญญาดังกล่าวแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการหยิบเอาบางส่วนของมิติการจัดการทางวัฒนธรรมในแง่ของการปรับประโยชน์ใช้สอย (Adaptation) มาใช้ กล่าวคือ เป็นเพียงการหยิบยกเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหน้าที่เดิมของกระติบที่จากเดิมใช้เพียงแค่ประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนไว้สำหรับใส่ข้าวเหนียวมาเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆเช่น ใช้เป็นกล่องใส่ของ แจกัน เป็นต้น เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามหากจะทำให้เกิดแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญากระติบให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการที่จะเผยแพร่และดำรงวัฒนธรรมให้คงอยู่ตามหลักมิติการจัดการทางวัฒนธรรมแล้วนั้น จะต้องพิจารณาคำนึงถึงคุณค่าเอกลักษณ์เดิมของภูมิปัญญากระติบเป็นหลักสำคัญเพื่อไม่ให้ลดทอนต่อคุณค่าเอกลักษณ์เดิมของตัวภูมิปัญญากระติบ อันจะทำให้ภูมิปัญญากระติบสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ดังแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญากระติบที่ผู้ศึกษาเสนอดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมและทำการพัฒนากระบวนการในการทำกระติบโดยคงไว้ซึ่งลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ กล่าวได้คือ จะต้องมีการศึกษาค้นคว้าถึงลักษณะเฉพาะของกระติบในแต่ละท้องถิ่นเพื่อหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นออกมาให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทราบแล้วว่าแต่ละหมู่บ้านที่มีการทำกระติบมีลวดลวยอะไรเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแล้วก็จะต้องทำการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ลักษณะลวดลายดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลทำให้ลวดลายดังกล่าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะได้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน อันจะก่อให้เกิดการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กระติบคงอยู่โดยที่ยังคงคุณค่าของเอกลักษณ์เฉพาะไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเร่งส่งเสริมชี้แจงให้เกิดความเข้าใจว่าลักษณะการใช้งานของกระติบและจุดประสงค์ที่แท้จริงของกระติบคือต้องการให้ใช้ประโยชน์โดยตรงจากวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เน้นแต่ความสะดวก เน้นเพียงแต่ที่จะเร่งตอบสนองกระแสนิยมที่จะสามารถเอาใจลูกค้าได้ ทำให้เกิดการละเลยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ตามมาได้

2. หาตลาดรองรับกระติบให้เพียงพอกับปริมาณการผลิตเพราะหากมีกระติบที่ออกมาเป็นจำนวนมากกว่าความต้องการของท้องตลาดจะส่งผลทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาและยังเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

3. เปิดการฝึกอบรมการทำกระติบให้ประชาชน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งวิธีในการที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำกระติบให้สืบทอดคงอยู่ได้ต่อไป

4. จัดงานแสดงสินค้าภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะการจัดงานแสดงสินค้าจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องภูมิปัญญาไทยมากขึ้น

5. จัดประกวดแข่งขันการทำกระติบ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าขององค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำกระติบต่อไป

แนวโน้มการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาตามกระแสสังคม


จากการที่ “ภูมิปัญญา” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ “วัฒนธรรม” เพราะเป็นเรื่องของระบบ ความรู้ ความคิด ความสามารถและทักษะในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้โดยผ่านการลองถูกลองผิดอันเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของวิถีชีวิตความเป็นอยู่นั้นๆตามยุคสมัยแล้วนั้น
จึงทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า “วัฒนธรรม”เป็นสิ่งที่เป็น “พลวัต”(Dynamic) ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวปรับตัว กล่าวได้ว่า เมื่อใดที่คนในสภาพสังคมนั้นๆเห็นว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นมันไม่เหมาะสมกับกาลเวลาและบริบทที่เผชิญอยู่ก็จะช่วยกันแต่งเติม เสริมแต่งหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตปัจจุบันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงแฝงเร้นอยู่บนรากฐานสิ่งเดิมเพื่อรักษาเสถียรภาพและเอกลักษณ์ของสังคมนั้นๆ
ดังนั้นจากการที่ “วัฒนธรรม” มีลักษณะเป็น “พลวัต” ดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้สามารถวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาตามกระแสสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตได้ คือ
ในเมื่อ “วัฒนธรรม” เป็น “พลวัต” ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เกิดกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ประเทศรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอก จากการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศในเรื่องของกระแสความสนใจ “ภาวะโลกร้อน” ที่มวลมนุษยชาติทั่วโลกต่างตระหนักถึงการจัดการ การอนุรักษ์ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสภาวะแวดล้อมของโลกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วในเรื่องของภูมิปัญญาไทยในแง่การทำหัตถกรรมที่ใช้วัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยได้อย่างมีศักยภาพ
กล่าวคือ ณ ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งประเด็นที่จะช่วยกันชะลอไม่ให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิม โดยที่พยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนดังกล่าว ซึ่งจากกระแสสังคมที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เองทำให้กระติบซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยในเรื่องของการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่นได้รับกระแสตอบรับจากสังคมได้เป็นอย่างดี ในสภาวะที่ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจอยู่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. คุณสมบัติเฉพาะของกระติบ จากการที่กระติบทั่วไปมักจะสานซ้อนกันสองชั้น คือ สานเป็นภาชนะด้านในชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงสานส่วนที่เป็นด้านนอกเพื่อให้เกิดความสวยงามครอบอีกชั้นหนึ่ง การสานสองชั้นนี้นอกจากจะเกิดความสวยงามแล้วยังช่วยเก็บความร้อนได้ดีเช่นเดียวกับกระติกในปัจจุบัน แต่กระติบมีคุณสมบัติพิเศษกว่า เพราะไอร้อนของข้าวเหนียวจะสามารถระเหยออกได้ตามรูระหว่างลายของเส้นตอกที่สาน ทำให้ไม่เกิดหยดน้ำจากการรวมตัวของไอน้ำที่ระเหยออกจากข้าวจึงทำให้ข้าวไม่แฉะและบูดได้ง่ายแล้วนั้นทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานแก๊ส พลังงานไฟฟ้าจากการใช้ไมโครเวฟ ในการอุ่นข้าวเหนียวใหม่ ไม่ให้บูดหรือทำให้ร้อน นิ่มน่ารับประทานอีกครั้ง
และเนื่องจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการทำกระติบนั้นมีคุณสมบัติที่เด่นคือ สามารถทนได้กับทุกสภาพอากาศ มีความคงทนทำให้เกิดการใช้งานได้นาน เกิดการใช้ซ้ำ(Reuse) ไม่ต้องเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานในการผลิตขึ้นมาใหม่
อนึ่งถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงได้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ มาแทนที่วัสดุจากธรรมชาติมากมาย เช่น มีฝาชีพลาสติกที่ทำเลียนแบบฝาชีไม้ไผ่ มีถุงพลาสติกใช้แทนถุงผ้าหิ้ว กระเป๋าหนังใช้แทนกระเป๋าที่สานจากไม้ไผ่ รวมทั้งมีผู้พยายามที่จะนำเชือกพลาสติกที่ทำเป็นเส้นคล้ายไม้ไผ่มาสานเป็นกระติบ แต่ปรากฏว่ากระติบพลาสติกแบบนี้มีรูปร่างและสีสันที่ไม่มีความงามดูขัดตาอย่างยิ่ง ซ้ำยังจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีภาชนะใดจะเก็บข้าวเหนียวได้ดีเท่ากับกระติบ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระติบยังทรงคุณค่าในสังคมไทยแม้แต่พลาสติกที่เข้ามามีบทบาทแทนที่วัสดุอื่นอย่างมากในปัจจุบันแต่ก็ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนหน้าที่ของกระติบได้ดี เพราะฉะนั้นย่อมเท่ากับชี้ให้เห็นว่าภูมิปัญญาไทยในการใช้กระติบบรรจุข้าวเหนียวมีส่วนในการที่จะช่วยลดการใช้พลาสติกซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้
2. กิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดขึ้นก็ยังมีส่วนที่จะช่วยอธิบายให้เห็นว่าภูมิปัญญาการทำกระติบนั้นใส่ใจโลกร้อนได้ ในที่นี้ก็คือ ณ ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับการรณรงค์สินค้าวัฒนธรรมไทย โดยมักมีการจัดงานแสดงสินค้าวัฒนธรรมไทยขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการไปแสดงสินค้าต่อสาธารณชน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วชาวบ้านก็จะทำอย่างสุดฝีมือเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถ คตินิยมและฝีมือของพวกเขาซึ่งก่อให้เกิดการทำกระติบที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นจำนวนน้อยลงแต่คุณภาพดีขึ้น ย่อมก็หมายความว่า เท่ากับเราใช้ไม้ไผ่น้อยลงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ไปในตัว
3. วัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture) ที่ ณ ขณะนี้สังคมทั่วโลกต่างนิยมสินค้าที่ทำมาจาก Hand Made หรือสินค้าประเภท Green Product ที่หมายความถึงผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นประเทศไทยจะมีฉลากเขียว (Green Label หรือ Eco-Label) ตลอดจนกระแส Green Consumer ที่ผู้บริโภคสินค้าจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ยิ่งส่งผลให้กระติบสามารถตอบรับกระแสการใส่ใจโลกร้อนได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่า ยิ่งกระติบได้รับความสนใจจากในคนสังคม ณ ปัจจุบัน ที่คำนึงให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร่แล้วนั้นก็ยิ่งจะทำให้มีการปลูกต้นไผ่มากขึ้นเพื่อนำมาทำกระติบให้ได้มาก ซึ่งการปลูกต้นไผ่มากขึ้นดังกล่าวนี้ก็ย่อมที่จะทำให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นภาวะโลกร้อนลดลง
แต่อย่างไรก็ตามจากกระแสสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัต ปรับตามกระแส Green Product ดังกล่าว กลับส่งผลกระทบต่อปัญหาภาวะโลกร้อนได้ในขณะเดียวกัน ในที่นี้ก็เช่น กรณีที่ร้านอาหารเป็นจำนวนมากในปัจจุบันมักจะเน้นเอาใจผู้บริโภคกลุ่ม Green Consumer โดยเลือกใช้กระติบเป็นตัวนำเสนอ (Present) ว่าร้านของตนเน้นใช้ Green Product ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กลับแฝงไปด้วยการเป็นตัวการร้าย โดยการนำเอาถุงพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนไปใส่ข้าวเหนียวชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำไปใส่กระติบทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเวลาพอที่จะทำความสะอาดกระติบให้ทันต่อการใช้งาน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการนำเอากระติบมาใช้งานในทางที่ผิดไม่ถูกต้องตามจุดประสงค์ที่ต้องการให้เน้นใช้วัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติโดยตรงจะได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้
4. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากในอดีตสังคมไทยได้ทำกระติบขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนก่อน ต่อมาเมื่อเหลือใช้แล้วจึงนำไปแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ได้ปัจจัยในการดำรงชีพชนิดอื่นที่ตนไม่สามารถทำได้ แล้วต่อมาจากนั้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย “เงิน” ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมีความสำคัญในการดำรงชีพ ดังนั้น แนวความคิดในการทำกระติบได้เปลี่ยนไปจากทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านพื้นฐานของตนมาเป็นการทำเพื่อการค้าตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้นโดยมีการบูรณาการภูมิปัญญาให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของท้องตลาดในยุคสมัยปัจจุบันที่ให้ความสนใจกับการคำนึงเลือกซื้อสินค้าที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายโลก โดยปรับประโยชน์ใช้สอยจากลักษณะพื้นบ้านของกระติบจากที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุจะข้าวเหนียวมาใช้ให้เข้ากับสภาพของผู้ใช้ที่มีความต้องการกว้างมากขึ้น เช่น การนำกระติบข้าวเหนียวไปใช้ใส่สิ่งของกระจุกกระจิก หรือนำมาเป็นแจกันใส่ดอกไม้ เป็นต้น

การถ่ายทอดภูมิปัญญากระติบ


กระติบถือว่าเป็นภูมิปัญญาสั่งสมที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันภายในครอบครัวจากบรรพบุรุษในลักษณะพ่อสอนลูกและสอนกันต่อๆไปในครอบครัวโดยผ่านวิธีการต่อปากกันมาหรือที่เรียกว่า แบบมุขปาฐะและผู้รับการถ่ายทอดซึ่งเป็นลูกหลานจะฝึกหัดทำเรื่อย ๆ ไปจนเกิดความชำนาญและทำได้ดีในที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเหตุเนื่องด้วยจากการทำกระติบที่ยังคงมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอยู่มาก ดังนั้น การทำกระติบจึงใช้การเรียนรู้สืบต่อในครอบครัวของคนเป็นหลัก(เกือบ 100%) แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบของท้องถิ่นมีลักษณะการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปอาศัยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก เทคโนโลยีการผลิตหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ก็เป็นการสืบทอดต่อ ๆ กันมามากกว่าการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ การเรียนรู้จากบรรพบุรุษช้า ๆ เป็นไปตามสภาพสังคมในอดีตที่ไม่เร่งรีบทำให้ผลงานการทำกระติบได้คุณภาพดีแข็งแรงคงทนและสวยงามได้อีก อนึ่ง การถ่ายทอดภูมิปัญญานอกจากจะเป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษในครอบครัวแล้วบางส่วนยังคงได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน,จังหวัดอื่น ๆ เช่น ก่องข้าวขวัญของชาวภูไทบริเวณเขตนครพนม สกลนครที่ถ่ายทอดรูปแบบการทำกระติบไปยังจังหวัดอื่น ๆที่ใกล้เคียง หรือ ระหว่างเขตภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาเช่นนี้ทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างรูปทรง ลวดลายที่สมบูรณ์เกิดเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ในที่สุด ตลอดจน ณ ปัจจุบันเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากหน่วยฝึกอบรมของทางราชการเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการผลิตที่สอดคล้องกับท้องตลาดเป็นการผลิตเพื่อเป็นการค้ามากขึ้นนั่นเอง

เอกลักษณ์ของภูมิปัญญา กระติบ


เอกลักษณ์ของภูมิปัญญา กระติบ

1. กระติบสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของชาวเหนือและชาวอีสานที่มีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งเป็นลักษณะการบริโภคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นแตกต่างไปจากการบริโภคข้าวเจ้าของชาวภาคกลางและภาคใต้

2. กระติบมีคุณสมบัติและคุณลักษณะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือการที่กระติบจะสานซ้อนกันสองชั้นเพื่อให้กระติบเก็บความร้อนและกรองไอน้ำจากข้าวเหนียวให้ระเหยออกไปอย่างช้าๆทำให้ข้าวเหนียวนึ่งร้อนและนุ่มอยู่ได้นาน หากใช้ภาชนะอื่นที่ผนังทึบอย่างกระติกหรือหม้อ ไอร้อนจะระเหยออกไปไม่ได้จะกลายเป็นหยดน้ำทำให้ข้าวเหนียวแฉะและเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันการสานซ้อนกันสองชั้นยังช่วยให้ตกแต่งลวดลายผิวนอกให้งดงามได้ง่าย ตลอดจนโครงสร้าง รูปทรง และลวดลายของกระติบยังมีความเหมาะเจาะ ลงตัว สอดคล้องกับการใช้สอยได้อย่างสมบูรณ์แม้จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีภาชนะอื่นใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีกว่า

คุณค่าของภูมิปัญญากระติบ


1. เป็นความภาคภูมิใจและเป็นศักดิ์ศรีและเป็นเกียรติภูมิของคนไทยทั้งชาติ

2. เป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เกิดความรู้สึกถึงรากเหง้าแห่งชุมชนว่ามีมานาน กล่าวได้คือ ภูมิปัญญาในการทำกระติบในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีคตินิยมในการทำกระติบที่สืบทอดกันจนเป็นแบบแผนของแต่ละท้องถิ่นซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นเสมือนเป้าหล่อหลอมความภาคภูมิใจให้กับคนในแต่ละท้องถิ่น

3. เป็นการตกผลึกองค์ความรู้ที่มีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งมากซึ่งครอบคลุมถึงคตินิยม ความรู้ ความสันทัด การรู้จักเลือกสรรสิ่งรอบตัวมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

4. ช่วยเปลี่ยนปรับปรนวิถีชีวิตของคนไทยให้เหมาะสมได้ตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตคนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกระติบเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว แต่ ณ ปัจจุบันกระติบยังสามารถเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้กับวิถีชีวิตของคนไทย คือใช้เป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ตลอดจนกระติบยังสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนไทยในยุคปัจจุบันได้อีกด้วย

5. กระติบสะท้อนให้เห็นถึงคตินิยมในเรื่องของความงามและศิลปหัตถกรรมการสานกระติบของคนไทยที่มีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางความงามและศิลปะที่เกิดจากรูปทรง,โครงสร้าง,ลวดลาย และวัสดุที่ใช้

6. ส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุในท้องถิ่นกล่าวคือการที่กระติบใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและหาได้ง่ายในท้องถิ่น นั้นถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการประหยัดและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจตลอดจนเป็นการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

ภูมิปัญญา กระติบ กับวิถีชีวิต



ภูมิปัญญา กระติบ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สะท้อนให้เห็นถึงสังคมเกษตรกรรมของชาวเหนือและชาวอีสานที่จะต้องเตรียมอาหารจัดใส่กระติบไว้สำหรับใช้เป็นอาหารกลางวันเวลาที่ต้องออกไปทำงานที่กลางไร่กลางนาไม่สามารถจะเดินทางย้อนกลับมารับประทานอาหารที่บ้านได้ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เร่งรีบของสังคมเกษตรกรรมที่พอมีเวลาที่จะสร้างสรรค์งานหัตถกรรมอันประณีตได้

2. สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือและชาวอีสานที่ต่างไปจากการบริโภคข้าวเจ้าในภาคอื่น

3. สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิตกระติบที่ชาวเหนือและชาวอีสานยังคงมีความเชื่อว่าจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต รูปทรง และลวดลายสีสันเอาไว้ทั้งนี้เพราะกลัวที่จะผิดครู

4. สะท้อนให้เห็นถึงคตินิยมในเรื่องของคุณค่าความงามและศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่น กระติบในเขตภาคเหนือจะนิยมย้อมให้ลายบางส่วนของกระติบมีสีดำ ส่วนในภาคอีสานจะไม่นิยม

5. สะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดของชาวบ้านได้เป็นอย่างดีในการเลือกสรรไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่อยู่ใกล้ตัวหาง่ายมีความทนทานต่อทุกสภาพอากาศมาทำเป็นกระติบอย่างมีคุณค่าสอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิต

6. สะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเหนือและชาวอีสานที่มักใช้วัสดุ อุปกรณ์จากสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เช่น พิธีขวัญข้าวจะใช้ก่องข้าวขวัญ(ซึ่งเป็นกระติบรูปแบบหนึ่ง)ใส่ข้าวเหนียวเพื่อบูชาแม่โพสพ และ การลำเซิ้งกระติบ เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552


ลักษณะภูมิปัญญา กระติบ
กระติบถือว่าเป็นภูมิปัญญาสั่งสมของชาวเหนือและชาวอีสานที่ได้ผ่านการกลั่นกรองความรู้จากการสังเกต การศึกษาธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ของบรรพบุรุษสู่คนในยุคปัจจุบันโดยเริ่มตั้งแต่ความชาญฉลาดในการรู้จักเลือกสรรไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต มาสานเป็นกระติบเพื่อใส่ข้าวเหนียวที่มีรูปทรง ลวดลายที่สวยงามลงตัว จนกระทั่งสามารถสืบทอดประยุกต์องค์ความรู้จนสามารถนำมาปรับประโยชน์ใช้สอยให้เข้ากับคนในยุคสมัยปัจจุบันโดยการนำมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน
ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา กระติบ
โดยในที่นี้ ผู้ศึกษาพิจารณาในแง่ที่ว่า กระติบ เกิดขึ้นตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตอันเป็นผลมาจากแรงผลักดันอันเป็นปัจจัยให้เกิดการทำกระติบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. ปัจจัยจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต เนื่องจากชาวเหนือและชาวอีสานนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักจึงทำให้เกิดการทำกระติบขึ้นเพื่อเป็นภาชนะบรรจุ
2. ปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยให้เกิดความสะดวกสบายเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมตามสภาพภูมิศาสตร์ ชาวเหนือและชาวอีสานจึงทำกระติบจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นขึ้นเพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวเพื่อไปเป็นอาหารกลางวันเวลาออกไปทำงานที่กลางไร่กลางนา
3. ปัจจัยที่เกิดจากความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา กล่าวคือ เครื่องจักสานจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาของชาวเหนือและชาวอีสาน ซึ่งในที่นี้จะเห็นได้จาก พิธีขวัญข้าว ซึ่งเป็นการบูชาแม่โพสพตามความเชื่อของชาวอีสานนั้น ทำให้เกิดการทำ ก่องข้าวขวัญ(ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของกระติบ) เพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวเพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การจัดการกลุ่มทำหลา-กระสวย(วิเคราะห์)



แบบบันทึกที่ 1 สำรวจชุมชน(เบื้องต้น)
หัวข้อที่ควรบันทึก
1. การชี้นำและการจูงใจ ในประเด็นย่อยดังต่อไปนี้
- การมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงานและบุคคลอื่นๆ
- การคัดเลือกผู้นำ
- พฤติกรรมของผู้นำในองค์กร
- การจูงใจที่พบในองค์กร
- ปัญหาที่พบในประเด็นการจูงใจ
2.การควบคุม ในประเด็นดังต่อไปนี้
- เครื่องมือควบคุมที่หน่วยงานใช้
- ปัญหาในการควบคุม
วิธีการศึกษา
การสัมภาษณ์ จดบันทึกข้อมูลจากคำบอกเล่า จากนั้นนำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องน่าเชื่อถือ โดยวิธี “สามเส้า” (Triangulation) และวิเคราะห์ข้อมูล ตามรูปแบบวิจัยเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์เนื้อหาเชิงบรรยายเชิงพรรณนา
ข้อมูล
การมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงานและบุคคลอื่นๆจากการศึกษาพบว่าสมาชิกในกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้ามีบทบาทส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับงาน เช่นเมื่อมีลูกค้ามาสั่งซื้อเครื่องมือทอผ้า สมาชิกในกลุ่มสามารถเริ่มงานได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้นำกลุ่ม แต่ทั้งนี้ในบางเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญๆยังคงเป็นหน้าที่การตัดสินใจของผู้นำกลุ่ม และการคัดเลือกผู้นำกลุ่ม จากการศึกษาพบว่า การคัดเลือกผู้นำของกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้านั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด ไม่มีการออกคะแนนเสียง แต่ผู้นำกลุ่มเกิดขึ้นจากการที่เป็นผู้ริเริ่มทำเครื่องมือทอผ้าขึ้นมาเป็นคนแรกของหมู่บ้าน พฤติกรรมของผู้นำในองค์กรจากการศึกษาพบว่า ผู้นำกลุ่มมีความสนใจทั้งงานและลูกน้องไปพร้อมๆกัน เช่น ในเวลาการทำงานหากลูกน้องไม่เข้าใจเนื้องานว่าจะต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ก็จะอธิบายให้
ลูกน้องฟัง และในขณะเดียวกัน ยามที่ลูกน้องเจ็บไข้ก็จะถามไถ่อาการ แสดงความห่วงใย ไปเยี่ยม การจูงใจที่พบในองค์กร จากการศึกษาพบว่ากลุ่มทำเครื่องมือทอผ้ามีการสั่งงาน(Order)จากลูกค้าไม่มากนักส่งผลทำให้รายได้ไม่สามารถเป็นที่ดึงดูดให้กับสมาชิกในกลุ่มได้ดีเท่าที่ควร ปัญหาที่พบในประเด็นการจูงใจ จากการศึกษาพบว่าไม่ว่าสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะผลิตงานออกมาได้จำนวนชิ้นไม่เท่ากัน แต่ก็ยังคงได้รายได้เท่ากัน ส่วนเครื่องมือควบคุมที่หน่วยงานใช้จากการศึกษาพบว่า ทางกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าจะดำเนินการผลิตเครื่องมือทอผ้าในแต่ละครั้งก็ต่อเมื่อมีการสั่งงาน(Order)จากลูกค้าเข้ามา ปัญหาที่พบในประเด็นการควบคุมจากการศึกษาพบว่า ทางกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์การผลิตสินค้าในแต่ละชิ้นงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าทางกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้ายังขาดขาดแนวทางในการควบคุมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็น Feedforward Control , Concurrent Control, Feedback Control นั่นเอง
วิเคราะห์
จากบทบาทการมีส่วนร่วมข้างต้นของสมาชิกในกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้านั้นแสดงให้เห็นว่าสอดคล้องกับ Participation และ Empowerment ในกระบวนการจัดการ ด้านการคัดเลือกผู้นำของกลุ่มทอผ้าใช้หลัก Seniority คือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ที่มากกว่าทั้งด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิและผู้นำกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้ามีลักษณะพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ Behavioral Theory ในส่วนของทฤษฎีThe ohio state studies โดยที่ผู้นำกลุ่มเป็นผู้นำที่มุ่งเน้นทั้งงานและคนไปพร้อมๆกัน กล่าวคือ เป็นแบบ Middle of the Road Management(5.5) คือผู้นำกลุ่มมีพฤติกรรมที่สมดุลได้ผลงานปานกลาง ขณะที่ความสัมพันธ์กับพนักงานก็อยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน ตามตาราง The Managerial Gridด้านการจูงใจของกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าสอดคล้องกับทฤษฎี Herzberg’s Motivation Hygiene Theory หรือที่ว่า(Two-Factor Theory) ทั้งนี้สืบเนื่องจากผลการเก็บข้อมูลจากสมาชิกกลุ่มพบว่าความพึงพอใจที่น้อยที่สุดในการทำงาน คือ เรื่องรายได้ กล่าวคือ รายได้เป็นปัจจัย Hygiene ซึ่งตามทฤษฎีกล่าวว่าเป็นปัจจัยที่จะป้องกันให้แรงจูงใจในการทำงานของบุคคลมีอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่มีหรือมีในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับบุคคล บุคคลจะเกิดความไม่ชอบงานขึ้น ดังนั้นถ้าสมาชิกในกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้ามีความพึงพอใจในเรื่องรายได้น้อยอาจมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกลุ่มต่ำลงและอาจทำให้สมาชิกในกลุ่มไม่เกิดความชอบรักงานได้นอกจากยังสามารถวิเคราะห์กับ Expectancy Theory ได้อีกด้วย คือ จากการศึกษาที่พบว่าการที่สมาชิกได้รับรายได้เท่ากันไม่ว่าจะผลิตได้กี่ชิ้นงานก็ตาม จะทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความท้อแท้ใจในการทำงานได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก Expectancy Theory เพราะเมื่อสมาชิกกลุ่มเห็นว่าทำแล้วไม่มีโอกาสที่จะได้รับรางวัล (ซึ่งในที่นี้ก็คือรายได้) ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจเกิดความท้อแท้ใจในการทำงานขึ้นมาได้ กลุ่มทำ
เครื่องมือทอผ้าประสพปัญหาในเรื่องขาดการออกแบบรางวัลที่ดี คือไม่นำเอาหลักการให้รางวัล Incentive System เข้ามาใช้ ในกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าใช้กลไกทางด้านการตลาดเป็นตัวควบคุม (Market Control) ซึ่งในที่นี้ก็คือจำนวนยอดสินค้าที่ลูกค้าสั่งงาน (Order) ในแต่ละครั้ง

การจัดการกลุ่มทำหลา-กระสวย บ้านซะซอม



ที่มาและความสำคัญของปัญหา

เดิมเครื่องมือทอผ้าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพของกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า หมู่บ้านซะซอม ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่ต่อมาเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เครื่องมือทอผ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้นจากเดิม กล่าวคือ จากที่เคยผลิตเพื่อเป็นเพียงเครื่องมือใช้สอยในระดับครัวเรือนได้ขยายไปสู่วงที่กว้างขึ้น คือ ขยายฐานการผลิตไปเป็นเพื่อการค้าอันนำมาสู่รายได้อีกทางหนึ่งของกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า โดยที่กลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าจะถือว่าการทำเครื่องมือทอผ้านี้เป็นเพียงอาชีพเสริมทั้งนี้เนื่องจากทางกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าจะใช้เวลาว่างหลังจาก 9เดือนจากการทำไร่ทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักได้เสร็จลงเรียบร้อยแล้ว
การทำเครื่องมือทอผ้าของกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า หมู่บ้านซะซอมนี้ถือได้ว่าเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยมีกระบวนการผลิตอันเป็นเทคนิคเฉพาะที่ได้คุณภาพการใช้งานดี มีความคงทนแข็งแรงใช้งานได้งานกว่าที่อื่น จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตป้อนให้กับหมู่บ้านอื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลา เนื่องจากมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่โดดเด่นกว่าที่อื่น คือ มีความลื่นไหลในการการหมุนได้ดี(จากการสัมภาษณ์กลุ่มทอผ้า หมู่บ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี)
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเบื้องต้นของคณะผู้วิจัยทราบว่ากลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า หมู่บ้านซะซอม ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานียังประสพปัญหาเท่าที่สังเกตได้คือ เมื่อวิเคราะห์ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคแล้วนั้นพบว่ากลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า หมู่บ้านซะซอม ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานียังไม่สามารถบริหารกระบวนการจัดการกลุ่มให้มีประสิทธิภาพได้ เช่น กลุ่มไม่มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน บทบาทการทำงานของสมาชิกซ้ำซ้อนกัน สมาชิกขาดการจูงใจในการทำงานและขาดงบประมาณสนับสนุน ในขณะที่ปัจจุบันหมู่บ้านซะซอมได้รับโอกาสจากบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก เช่น คณะทูตจาก 16 ประเทศ จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นคณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษากระบวนการจัดการกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้กลุ่มสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนอันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มต่อไป
การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาการจัดการกลุ่มทำเครื่องมือทอผ้า หมู่บ้านซะซอม ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากลุ่มทำเครื่องมือทอผ้าให้มีความเข้มแข็ง สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับตน และมีส่วนช่วยพัฒนาส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคต