วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การถ่ายทอดภูมิปัญญากระติบ


กระติบถือว่าเป็นภูมิปัญญาสั่งสมที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันภายในครอบครัวจากบรรพบุรุษในลักษณะพ่อสอนลูกและสอนกันต่อๆไปในครอบครัวโดยผ่านวิธีการต่อปากกันมาหรือที่เรียกว่า แบบมุขปาฐะและผู้รับการถ่ายทอดซึ่งเป็นลูกหลานจะฝึกหัดทำเรื่อย ๆ ไปจนเกิดความชำนาญและทำได้ดีในที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะเหตุเนื่องด้วยจากการทำกระติบที่ยังคงมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอยู่มาก ดังนั้น การทำกระติบจึงใช้การเรียนรู้สืบต่อในครอบครัวของคนเป็นหลัก(เกือบ 100%) แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบของท้องถิ่นมีลักษณะการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปอาศัยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก เทคโนโลยีการผลิตหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ก็เป็นการสืบทอดต่อ ๆ กันมามากกว่าการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ การเรียนรู้จากบรรพบุรุษช้า ๆ เป็นไปตามสภาพสังคมในอดีตที่ไม่เร่งรีบทำให้ผลงานการทำกระติบได้คุณภาพดีแข็งแรงคงทนและสวยงามได้อีก อนึ่ง การถ่ายทอดภูมิปัญญานอกจากจะเป็นการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษในครอบครัวแล้วบางส่วนยังคงได้รับอิทธิพลจากการเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน,จังหวัดอื่น ๆ เช่น ก่องข้าวขวัญของชาวภูไทบริเวณเขตนครพนม สกลนครที่ถ่ายทอดรูปแบบการทำกระติบไปยังจังหวัดอื่น ๆที่ใกล้เคียง หรือ ระหว่างเขตภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาเช่นนี้ทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างรูปทรง ลวดลายที่สมบูรณ์เกิดเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ในที่สุด ตลอดจน ณ ปัจจุบันเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากหน่วยฝึกอบรมของทางราชการเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการผลิตที่สอดคล้องกับท้องตลาดเป็นการผลิตเพื่อเป็นการค้ามากขึ้นนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น