วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอแนะ แนวทางอนุรักษ์


อนึ่งจากการที่กระติบถูกนำมาประยุกต์ดัดแปลงให้สอดรับกับความต้องการของคนในสังคมที่มีมากขึ้นอันเกิดจากการบูรณาการภูมิปัญญาดังกล่าวแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการหยิบเอาบางส่วนของมิติการจัดการทางวัฒนธรรมในแง่ของการปรับประโยชน์ใช้สอย (Adaptation) มาใช้ กล่าวคือ เป็นเพียงการหยิบยกเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหน้าที่เดิมของกระติบที่จากเดิมใช้เพียงแค่ประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนไว้สำหรับใส่ข้าวเหนียวมาเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆเช่น ใช้เป็นกล่องใส่ของ แจกัน เป็นต้น เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามหากจะทำให้เกิดแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญากระติบให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการที่จะเผยแพร่และดำรงวัฒนธรรมให้คงอยู่ตามหลักมิติการจัดการทางวัฒนธรรมแล้วนั้น จะต้องพิจารณาคำนึงถึงคุณค่าเอกลักษณ์เดิมของภูมิปัญญากระติบเป็นหลักสำคัญเพื่อไม่ให้ลดทอนต่อคุณค่าเอกลักษณ์เดิมของตัวภูมิปัญญากระติบ อันจะทำให้ภูมิปัญญากระติบสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ดังแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญากระติบที่ผู้ศึกษาเสนอดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมและทำการพัฒนากระบวนการในการทำกระติบโดยคงไว้ซึ่งลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไว้ กล่าวได้คือ จะต้องมีการศึกษาค้นคว้าถึงลักษณะเฉพาะของกระติบในแต่ละท้องถิ่นเพื่อหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นออกมาให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทราบแล้วว่าแต่ละหมู่บ้านที่มีการทำกระติบมีลวดลวยอะไรเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแล้วก็จะต้องทำการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ลักษณะลวดลายดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลทำให้ลวดลายดังกล่าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะได้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน อันจะก่อให้เกิดการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กระติบคงอยู่โดยที่ยังคงคุณค่าของเอกลักษณ์เฉพาะไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเร่งส่งเสริมชี้แจงให้เกิดความเข้าใจว่าลักษณะการใช้งานของกระติบและจุดประสงค์ที่แท้จริงของกระติบคือต้องการให้ใช้ประโยชน์โดยตรงจากวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เน้นแต่ความสะดวก เน้นเพียงแต่ที่จะเร่งตอบสนองกระแสนิยมที่จะสามารถเอาใจลูกค้าได้ ทำให้เกิดการละเลยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ตามมาได้

2. หาตลาดรองรับกระติบให้เพียงพอกับปริมาณการผลิตเพราะหากมีกระติบที่ออกมาเป็นจำนวนมากกว่าความต้องการของท้องตลาดจะส่งผลทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาและยังเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

3. เปิดการฝึกอบรมการทำกระติบให้ประชาชน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งวิธีในการที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำกระติบให้สืบทอดคงอยู่ได้ต่อไป

4. จัดงานแสดงสินค้าภายใต้แนวคิดภูมิปัญญาไทยใส่ใจโลกร้อนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะการจัดงานแสดงสินค้าจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องภูมิปัญญาไทยมากขึ้น

5. จัดประกวดแข่งขันการทำกระติบ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าขององค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำกระติบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น