วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ภูมิปัญญา กระติบ กับวิถีชีวิต



ภูมิปัญญา กระติบ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สะท้อนให้เห็นถึงสังคมเกษตรกรรมของชาวเหนือและชาวอีสานที่จะต้องเตรียมอาหารจัดใส่กระติบไว้สำหรับใช้เป็นอาหารกลางวันเวลาที่ต้องออกไปทำงานที่กลางไร่กลางนาไม่สามารถจะเดินทางย้อนกลับมารับประทานอาหารที่บ้านได้ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เร่งรีบของสังคมเกษตรกรรมที่พอมีเวลาที่จะสร้างสรรค์งานหัตถกรรมอันประณีตได้

2. สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือและชาวอีสานที่ต่างไปจากการบริโภคข้าวเจ้าในภาคอื่น

3. สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิตกระติบที่ชาวเหนือและชาวอีสานยังคงมีความเชื่อว่าจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต รูปทรง และลวดลายสีสันเอาไว้ทั้งนี้เพราะกลัวที่จะผิดครู

4. สะท้อนให้เห็นถึงคตินิยมในเรื่องของคุณค่าความงามและศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่น กระติบในเขตภาคเหนือจะนิยมย้อมให้ลายบางส่วนของกระติบมีสีดำ ส่วนในภาคอีสานจะไม่นิยม

5. สะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดของชาวบ้านได้เป็นอย่างดีในการเลือกสรรไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่อยู่ใกล้ตัวหาง่ายมีความทนทานต่อทุกสภาพอากาศมาทำเป็นกระติบอย่างมีคุณค่าสอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิต

6. สะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเหนือและชาวอีสานที่มักใช้วัสดุ อุปกรณ์จากสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เช่น พิธีขวัญข้าวจะใช้ก่องข้าวขวัญ(ซึ่งเป็นกระติบรูปแบบหนึ่ง)ใส่ข้าวเหนียวเพื่อบูชาแม่โพสพ และ การลำเซิ้งกระติบ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น