วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552


ลักษณะภูมิปัญญา กระติบ
กระติบถือว่าเป็นภูมิปัญญาสั่งสมของชาวเหนือและชาวอีสานที่ได้ผ่านการกลั่นกรองความรู้จากการสังเกต การศึกษาธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ของบรรพบุรุษสู่คนในยุคปัจจุบันโดยเริ่มตั้งแต่ความชาญฉลาดในการรู้จักเลือกสรรไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต มาสานเป็นกระติบเพื่อใส่ข้าวเหนียวที่มีรูปทรง ลวดลายที่สวยงามลงตัว จนกระทั่งสามารถสืบทอดประยุกต์องค์ความรู้จนสามารถนำมาปรับประโยชน์ใช้สอยให้เข้ากับคนในยุคสมัยปัจจุบันโดยการนำมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน
ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา กระติบ
โดยในที่นี้ ผู้ศึกษาพิจารณาในแง่ที่ว่า กระติบ เกิดขึ้นตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตอันเป็นผลมาจากแรงผลักดันอันเป็นปัจจัยให้เกิดการทำกระติบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. ปัจจัยจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต เนื่องจากชาวเหนือและชาวอีสานนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักจึงทำให้เกิดการทำกระติบขึ้นเพื่อเป็นภาชนะบรรจุ
2. ปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอยให้เกิดความสะดวกสบายเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมตามสภาพภูมิศาสตร์ ชาวเหนือและชาวอีสานจึงทำกระติบจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นขึ้นเพื่อใช้เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวเพื่อไปเป็นอาหารกลางวันเวลาออกไปทำงานที่กลางไร่กลางนา
3. ปัจจัยที่เกิดจากความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา กล่าวคือ เครื่องจักสานจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาของชาวเหนือและชาวอีสาน ซึ่งในที่นี้จะเห็นได้จาก พิธีขวัญข้าว ซึ่งเป็นการบูชาแม่โพสพตามความเชื่อของชาวอีสานนั้น ทำให้เกิดการทำ ก่องข้าวขวัญ(ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของกระติบ) เพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวเพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น