วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาตามกระแสสังคม


จากการที่ “ภูมิปัญญา” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ “วัฒนธรรม” เพราะเป็นเรื่องของระบบ ความรู้ ความคิด ความสามารถและทักษะในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้โดยผ่านการลองถูกลองผิดอันเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของวิถีชีวิตความเป็นอยู่นั้นๆตามยุคสมัยแล้วนั้น
จึงทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า “วัฒนธรรม”เป็นสิ่งที่เป็น “พลวัต”(Dynamic) ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหวปรับตัว กล่าวได้ว่า เมื่อใดที่คนในสภาพสังคมนั้นๆเห็นว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นมันไม่เหมาะสมกับกาลเวลาและบริบทที่เผชิญอยู่ก็จะช่วยกันแต่งเติม เสริมแต่งหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตปัจจุบันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงแฝงเร้นอยู่บนรากฐานสิ่งเดิมเพื่อรักษาเสถียรภาพและเอกลักษณ์ของสังคมนั้นๆ
ดังนั้นจากการที่ “วัฒนธรรม” มีลักษณะเป็น “พลวัต” ดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้สามารถวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มการปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาตามกระแสสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตได้ คือ
ในเมื่อ “วัฒนธรรม” เป็น “พลวัต” ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เกิดกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ประเทศรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอก จากการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศในเรื่องของกระแสความสนใจ “ภาวะโลกร้อน” ที่มวลมนุษยชาติทั่วโลกต่างตระหนักถึงการจัดการ การอนุรักษ์ ลดการใช้พลังงาน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสภาวะแวดล้อมของโลกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วในเรื่องของภูมิปัญญาไทยในแง่การทำหัตถกรรมที่ใช้วัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยได้อย่างมีศักยภาพ
กล่าวคือ ณ ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งประเด็นที่จะช่วยกันชะลอไม่ให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิม โดยที่พยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนดังกล่าว ซึ่งจากกระแสสังคมที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เองทำให้กระติบซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยในเรื่องของการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่นได้รับกระแสตอบรับจากสังคมได้เป็นอย่างดี ในสภาวะที่ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจอยู่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. คุณสมบัติเฉพาะของกระติบ จากการที่กระติบทั่วไปมักจะสานซ้อนกันสองชั้น คือ สานเป็นภาชนะด้านในชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงสานส่วนที่เป็นด้านนอกเพื่อให้เกิดความสวยงามครอบอีกชั้นหนึ่ง การสานสองชั้นนี้นอกจากจะเกิดความสวยงามแล้วยังช่วยเก็บความร้อนได้ดีเช่นเดียวกับกระติกในปัจจุบัน แต่กระติบมีคุณสมบัติพิเศษกว่า เพราะไอร้อนของข้าวเหนียวจะสามารถระเหยออกได้ตามรูระหว่างลายของเส้นตอกที่สาน ทำให้ไม่เกิดหยดน้ำจากการรวมตัวของไอน้ำที่ระเหยออกจากข้าวจึงทำให้ข้าวไม่แฉะและบูดได้ง่ายแล้วนั้นทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานแก๊ส พลังงานไฟฟ้าจากการใช้ไมโครเวฟ ในการอุ่นข้าวเหนียวใหม่ ไม่ให้บูดหรือทำให้ร้อน นิ่มน่ารับประทานอีกครั้ง
และเนื่องจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการทำกระติบนั้นมีคุณสมบัติที่เด่นคือ สามารถทนได้กับทุกสภาพอากาศ มีความคงทนทำให้เกิดการใช้งานได้นาน เกิดการใช้ซ้ำ(Reuse) ไม่ต้องเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานในการผลิตขึ้นมาใหม่
อนึ่งถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงได้ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ มาแทนที่วัสดุจากธรรมชาติมากมาย เช่น มีฝาชีพลาสติกที่ทำเลียนแบบฝาชีไม้ไผ่ มีถุงพลาสติกใช้แทนถุงผ้าหิ้ว กระเป๋าหนังใช้แทนกระเป๋าที่สานจากไม้ไผ่ รวมทั้งมีผู้พยายามที่จะนำเชือกพลาสติกที่ทำเป็นเส้นคล้ายไม้ไผ่มาสานเป็นกระติบ แต่ปรากฏว่ากระติบพลาสติกแบบนี้มีรูปร่างและสีสันที่ไม่มีความงามดูขัดตาอย่างยิ่ง ซ้ำยังจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีภาชนะใดจะเก็บข้าวเหนียวได้ดีเท่ากับกระติบ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระติบยังทรงคุณค่าในสังคมไทยแม้แต่พลาสติกที่เข้ามามีบทบาทแทนที่วัสดุอื่นอย่างมากในปัจจุบันแต่ก็ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนหน้าที่ของกระติบได้ดี เพราะฉะนั้นย่อมเท่ากับชี้ให้เห็นว่าภูมิปัญญาไทยในการใช้กระติบบรรจุข้าวเหนียวมีส่วนในการที่จะช่วยลดการใช้พลาสติกซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้
2. กิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดขึ้นก็ยังมีส่วนที่จะช่วยอธิบายให้เห็นว่าภูมิปัญญาการทำกระติบนั้นใส่ใจโลกร้อนได้ ในที่นี้ก็คือ ณ ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับการรณรงค์สินค้าวัฒนธรรมไทย โดยมักมีการจัดงานแสดงสินค้าวัฒนธรรมไทยขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการไปแสดงสินค้าต่อสาธารณชน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วชาวบ้านก็จะทำอย่างสุดฝีมือเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถ คตินิยมและฝีมือของพวกเขาซึ่งก่อให้เกิดการทำกระติบที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นจำนวนน้อยลงแต่คุณภาพดีขึ้น ย่อมก็หมายความว่า เท่ากับเราใช้ไม้ไผ่น้อยลงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ไปในตัว
3. วัฒนธรรมสมัยนิยม (Popular Culture) ที่ ณ ขณะนี้สังคมทั่วโลกต่างนิยมสินค้าที่ทำมาจาก Hand Made หรือสินค้าประเภท Green Product ที่หมายความถึงผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นประเทศไทยจะมีฉลากเขียว (Green Label หรือ Eco-Label) ตลอดจนกระแส Green Consumer ที่ผู้บริโภคสินค้าจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ยิ่งส่งผลให้กระติบสามารถตอบรับกระแสการใส่ใจโลกร้อนได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่า ยิ่งกระติบได้รับความสนใจจากในคนสังคม ณ ปัจจุบัน ที่คำนึงให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร่แล้วนั้นก็ยิ่งจะทำให้มีการปลูกต้นไผ่มากขึ้นเพื่อนำมาทำกระติบให้ได้มาก ซึ่งการปลูกต้นไผ่มากขึ้นดังกล่าวนี้ก็ย่อมที่จะทำให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นภาวะโลกร้อนลดลง
แต่อย่างไรก็ตามจากกระแสสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัต ปรับตามกระแส Green Product ดังกล่าว กลับส่งผลกระทบต่อปัญหาภาวะโลกร้อนได้ในขณะเดียวกัน ในที่นี้ก็เช่น กรณีที่ร้านอาหารเป็นจำนวนมากในปัจจุบันมักจะเน้นเอาใจผู้บริโภคกลุ่ม Green Consumer โดยเลือกใช้กระติบเป็นตัวนำเสนอ (Present) ว่าร้านของตนเน้นใช้ Green Product ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กลับแฝงไปด้วยการเป็นตัวการร้าย โดยการนำเอาถุงพลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนไปใส่ข้าวเหนียวชั้นหนึ่งก่อนที่จะนำไปใส่กระติบทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเวลาพอที่จะทำความสะอาดกระติบให้ทันต่อการใช้งาน ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการนำเอากระติบมาใช้งานในทางที่ผิดไม่ถูกต้องตามจุดประสงค์ที่ต้องการให้เน้นใช้วัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติโดยตรงจะได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้
4. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากในอดีตสังคมไทยได้ทำกระติบขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนก่อน ต่อมาเมื่อเหลือใช้แล้วจึงนำไปแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ได้ปัจจัยในการดำรงชีพชนิดอื่นที่ตนไม่สามารถทำได้ แล้วต่อมาจากนั้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย “เงิน” ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมีความสำคัญในการดำรงชีพ ดังนั้น แนวความคิดในการทำกระติบได้เปลี่ยนไปจากทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านพื้นฐานของตนมาเป็นการทำเพื่อการค้าตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้นโดยมีการบูรณาการภูมิปัญญาให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของท้องตลาดในยุคสมัยปัจจุบันที่ให้ความสนใจกับการคำนึงเลือกซื้อสินค้าที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายโลก โดยปรับประโยชน์ใช้สอยจากลักษณะพื้นบ้านของกระติบจากที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุจะข้าวเหนียวมาใช้ให้เข้ากับสภาพของผู้ใช้ที่มีความต้องการกว้างมากขึ้น เช่น การนำกระติบข้าวเหนียวไปใช้ใส่สิ่งของกระจุกกระจิก หรือนำมาเป็นแจกันใส่ดอกไม้ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น